วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553





รัฐบาลไทย(คณะรัฐมนตรี)

ความหมายและความสำคัญ
คณะรัฐมนตรี ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง คณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อทําหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
รัฐมนตรี ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึง ผู้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรี หรือ คณะรัฐบาล รับผิดชอบร่วมกับ คณะรัฐมนตรีในนโยบายทั่วไปของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน, ถ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือทบวง ก็เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกระทรวงหรือทบวงที่ตนว่าการ และรับผิดชอบในการบริหารราชการกระทรวงหรือทบวงนั้นด้วยอีกฐานะหนึ่ง (คำว่ารัฐมนตรีนี้ในสมัยโบราณ หมายถึง ที่ปรึกษาราชการบ้านเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์). [2] รัฐมนตรี (Minister) ของกระทรวงต่างๆนี้ เมื่อได้รับการแต่งตั้งครบทุกกระทรวงตามจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกันนี้ในฐานะผู้นำในการบริหารประเทศ ก็จะเรียกรวมกันว่าเป็น คณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรี (Cabinet) จึงเป็นคณะบุคคลที่ประกอบด้วยบุคคลผู้มีตำแหน่งต่างๆกันหลายคน มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา[3] ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย อันประกอบด้วย หัวหน้าคณะ 1 คน ซึ่งมักเรียกว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะ มีอำนาจเรียกประชุม กำหนดเรื่องที่จะประชุม เป็นประธานในที่ประชุม และขอมติจากที่ประชุม ตลอดจนบังคับบัญชา หรือสั่งการในเรื่องต่างๆ
องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญในอดีตกำหนดจำนวนรัฐมนตรีไว้แตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา171 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน รวมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะไม่เกิน 36 คน[4] คณะรัฐมนตรีในที่นี้ อาจประกอบด้วย รัฐมนตรีประเภทต่างๆได้แก่ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีว่าการทบวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง[5] ซึ่งจะมีจำนวนมากน้อยเท่าใดก็ได้ แต่จำนวนรวมกันต้องไม่เกินจำนวนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด (กรณีที่ แต่งตั้งบุคคลคนเดียวให้ดำรงตำแหน่งหลายตำแหน่ง จะยึดจำนวนคนเป็นหลักไม่ใช่นับตามตำแหน่ง เช่น เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะนับว่าเท่ากับคนเดียว)
ความสำคัญของคณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งมีอำนาจสูงสุดในแต่ละหน่วยงาน จึงอาจสรุปว่า คณะรัฐมนตรีมีความสำคัญใน 3 ด้าน[6] คือ
1. ด้านกฎหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นผู้ใช้กฎหมายโดยตรง และเป็นผู้เสนอกฎหมายต่างๆเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารกิจการราชการต่างๆของประเทศให้เป็นไปโดยราบรื่น
2. ด้านนโยบายการเมือง[7] คณะรัฐมนตรีนั้นเป็นองค์กรสูงสุดที่มีกำหนดนโยบายทั้งระดับภายในและภายนอกประเทศ โดยภายในประเทศเป็นผู้กำหนดการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง ส่วนภายนอกประเทศมีอำนาจกระทำการผูกพันในฐานะตัวแทนของรัฐหรือประเทศและมีผลผูกพัน
3. ด้านอำนาจ ถือเป็นองค์กรที่มีอำนาจทางด้านการบริหาร ซึ่งมีอำนาจกำหนดนโยบายต่างๆซึ่งเท่ากับเป็นการกำหนดทิศทางของประเทศ และยังมีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการข้าราชการซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในทุกระดับทั่วประเทศ ดังนั้นอำนาจที่มากมายเหล่านี้ย่อมกระทบต่อประชาชนโดยรวมอย่างกว้างขวาง ผู้ใช้อำนาจจึงควรใช้อำนาจด้วยความเป็นธรรม ตามหลัก ธรรมาภิบาล
คณะรัฐมนตรีนั้น กฎหมายถือว่า เป็นข้าราชการประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็น "ข้าราชการการเมือง" ซึ่งเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุทางการเมือง จะต่างจากข้าราชการประจำทั่วๆไป ดังนั้น คำว่า "คณะรัฐมนตรี" เป็นคำที่ใช้ ในกฎหมาย มุ่งหมายถึงเฉพาะข้าราชการการเมืองผู้มีตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าว ตรงกับที่ใช้ในภาษาอังกฤษว่า "Council of Ministers" หรือ "Cabinet" ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใช้ควบคู่กันคือคำว่า "รัฐบาล" หรือ "Government" ในบางครั้งคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ บางครั้ง คำว่ารัฐบาลอาจมีความหมายกว้างกว่านั้น เพราะอาจรวมไปถึงข้าราชการประจำและเจ้าหน้าที่ทั้งหลายของฝ่ายบริหาร อีกด้วย เพื่อแยกให้ เห็นว่า เป็นคนละฝ่ายกับภาคเอกชน และคนละฝ่ายกับสมาชิกรัฐสภา[8] จึงอาจกล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรีอยู่ในฐานะที่เป็นทั้งหัวหน้าของคณะรัฐมนตรีและหัวหน้ารัฐบาลไปพร้อมๆกัน
ประวัติความเป็นมาของคณะรัฐมนตรี
ในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีที่มาจากคณะเสนาบดีในอดีต ตั้งแต่สมัยอยุธยาเริ่มมีเสนาบดีเวียง วัง คลัง นา รับผิดชอบแต่ละฝ่าย และยังมีเสนาบดีเรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้แนวคิดเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ได้ถูกเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรกในช่วง ปี รศ.103 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าสภาพบ้านเมืองขณะนั้นยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเต็มรูปแบบ แต่ก็ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองใหม่ครั้งใหญ่ โดยทรงจัดตั้งกระทรวงต่างๆขึ้น มีเสนาบดีเป็นหัวหน้ากระทรวง ทำหน้าที่ในลักษณะของคณะรัฐมนตรีแต่พระมหากษัตริย์ยังคงทรงเป็นประธาน[9] โดยระบบคณะเสนาบดีนี้ได้ดำเนินมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา เพื่อทำหน้าที่ถวายคำปรึกษา แต่แนวคิดเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีก็ยังคงมีอยู่ดังปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของพระยากัลยาณไมตรี มาตรา 3-5[10] ซึ่งได้ถูกคัดค้านและไม่มีการนำมาปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตามอาจสรุปได้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์โดยตรง[11] แม้บางครั้งจะมีคณะบุคคลร่วมทำงานในการเป็นที่ปรึกษาต่างๆ หรือช่วยบริหารงานราชการกระทรวงต่างๆก็ตาม
คณะรัฐมนตรีเต็มรูปแบบในระบบรัฐสภาคณะแรกของไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เดิมนั้นใช้ชื่อว่า คณะกรรมการราษฎร เกิดขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้ใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 โดยสภาผู้แทนราษฎรได้เลือก มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร จากนั้นประธานคณะกรรมการราษฎรจึงได้เสนอชื่อคณะกรรมการราษฎรให้สภาอนุมัติซึ่งคณะกรรมการราษฎรนี้ไม่มีการแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภา โดยถือเอาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเป็นนโยบายของรัฐบาล ในระหว่างที่ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทักท้วงว่าการใช้คำว่า "กรรมการราษฎร" แทน "Minister" หรือ "เสนาบดี"ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ทรงเห็นว่าไม่ไพเราะและ ไม่ค่อยถูกต้องนัก[12] เพราะฟังดูเป็นโซเวียต ในรัฐสภาจึงถกเถียงกันในเรื่องนี้อย่างมาก และที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติให้ใช้คำว่า “รัฐมนตรี” แทน “กรรมการราษฎร” และใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรี” แทน “ประธานคณะกรรมการราษฎร” และคำว่า “คณะรัฐมนตรี” แทนคำว่า “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งคำว่าคณะรัฐมนตรีหมายถึง “ข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดิน” มิใช่ที่ปรึกษาของแผ่นดินอีกต่อไป[13] และประกาศ ใช้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 นับแต่นั้นมา[14] ปัจจุบันประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 59 คณะ

คุณสมบัติของรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 174 ได้กำหนดว่า รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม[15] โดยสรุปดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์

(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(4) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 102 (1) (2) (3) (4) (6) (7) (8) (9) (11) (12) (13) หรือ (14) (ได้แก่ ติดยาเสพติดยาเสพติดให้โทษ เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือถูกคุมขังโดยหมายของศาล เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ เป็นต้น)

(5) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(6) ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินหนึ่งปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี
เมื่อพิจารณาตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฏีกา ตลอดจนระเบียบหรือ มติคณะรัฐมนตรี[16] แล้ว






อำนาจหน้าที่หลักๆ ของคณะรัฐมนตรีสรุปได้ ดังนี้

1. กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน

2. บริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

3. รับสนองพระบรมราชโองการเกี่ยวกับกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน

4. เสนอกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งออกพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ ในกรณีฉุกเฉินรีบด่วนมีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือปัดป้องภัยภิบัติสาธารณะ นอกจากนี้มีอำนาจออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ โดยต้องไม่ขัดต่อกฎหมายลำดับสูงกว่า

5. เป็นผู้บริหารสูงสุดในแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกระทรวง วางระเบียบข้อบังคับของแต่ละกระทรวง พิจารณา ตัดสินใจ วินิจฉัยชี้ขาด ลงมติ เรื่องต่างๆตามที่แต่ละกระทรวงเสนอมา

6. มีสิทธิเข้าประชุม เพื่อชี้แจงและ แถลงข้อเท็จจริงในที่ประชุมสภา แต่ไม่มีสิทธิออกคะแนนเสียง หรือในกรณีสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภามีมติให้รัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมในเรื่องใด ก็ต้องเข้าประชุม และมีสิทธิร้องขอให้มีการประชุมลับ

7. ในกรณีมีเรื่องสำคัญและต้องการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา มีสิทธิเสนอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติได้

8. เสนอให้มีการออกเสียงประชามติในกรณีกิจการใดที่เป็นเรื่องมีผลดีผลเสียกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่

9. อำนาจหน้าที่อื่นๆ ซึ่งกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เช่น การประกาศใช้และการเลิกใช้กฎอัยการศึก การประกาศสงคราม การอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษ และการถอดถอนฐานันดรศักดิ์ เป็นต้น

10. อำนาจหน้าที่เฉพาะอื่นๆ ตามบทบัญญัติในกฎหมายต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย

จากบทบาทที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น มิอาจปฏิเสธได้เลยว่า คณะรัฐมนตรี เป็นองค์กรที่ความสำคัญมาก จนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐนาวา หากมีคณะรัฐมนตรีที่ดีมีศักยภาพ ปกครองประเทศโดยหลักนิติรัฐ ใช้อำนาจในทางที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อชาติ ก็ย่อมจะนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จทัดเทียมนานาประเทศสืบไป

คณะรัฐมนตรี ชุดปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
รองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรณ์ จาติกวณิช
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายมั่น พัธโนทัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายอิสสระ สมชัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา นายชุมพล ศิลปอาชา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ วงศ์สมุทร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายศุภชัย โพธิ์สุ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายโสภณ ซารัมย์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ์นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายจุติ ไกรกฤษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางพรทิวา นาคาศัย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอลงกรณ์ พลบุตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายถาวร เสนเนียม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาคย์์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวีระชัย วีระเมธีกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไชยยศ จิรเมธากร นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัฒน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุวิทย์ คุณกิตติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางพรรณสิิริ กุลนาถศิริ


เปิดประวัติ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27
อายุ 44 ปี เกิด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ เป็นมหาบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 จากอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ในสาขาปรัชญาการเมือง และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สมรสกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์เพ็ญ (ศกุนตาภัย) เวชชาชีวะ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรด้วยกัน 2 คน


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง
อายุ 59 ปี ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "เทพเทือก" จบการศึกษาปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท M.A. Political Sciences จาก Middle Tennesse State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลท่าสะท้อนต่อจากบิดา ซึ่งเป็นที่ฮือฮามาก เพราะในยุคนั้นรัฐมนตรีบางกระทรวงยังจบการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อมาตัดสินใจลงเล่นการเมืองระดับประเทศ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สุราษฎ์ธานี เมื่อปี 2522 และชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส.ต่อเนื่องถึง 10 สมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์


นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ



อายุ 59 ปี จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียโพลีเทคนิค ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับประกาศนียบัตรการอบรมบริหารชั้นสูง จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2534 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครราชสีมามาหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในปี 2544 เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะลงสมัคร ส.ส.ในกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน เมื่อการเลือกตั้งปี 2548 แต่ไม่ได้รับเลือก จากนั้นจึงพลิกบทบาทไปเขียนหนังสือแนวการเปิดโปงการทุจริตหลายเล่ม เช่น ใครว่าคนรวยไม่โกง ฯลฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็น รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านสังคม
ส.ส.พิจิตร อายุ 73 ปี อดีตทหารม้า ผ่านสมรภูมิมาทุกรูปแบบ ทั้งเผด็จการ รัฐประหาร เคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยุคชวน หลีกภัย เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังพ้นการถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ก็นำสมาชิกพรรคมหาชนเข้าร่วมพรรคชาติไทย ทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษาพรรค ก่อนจะดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เมื่อพรรคชาติไทยจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
อายุ 47 ปี จบปริญญาตรี จาก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และปริญญาโท จาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เกียรตินิยมอันดับ1 เป็นส.ส.จังหวัดตรังหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลชวน 2 และเคยดำรงตำแหน่งโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์

นายวีระชัย วีระเมธีกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
อายุ 41 ปี จบ MBA จากมหาวิทยาลัย Clark University ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก บัญชีดุษฎีบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นอาจารย์ประจำที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง เคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการธนาคาร Business Development Bank, กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง, ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายวีระชัยเป็นอดีตลูกเขยผู้บริหารในเครือซีพีที่ได้รับโควตาคนนอกเข้ามาร่วมรัฐบาล โดยเบียดกับนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง มาได้นาทีสุดท้าย


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต.ผบ.ทบ.เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
อายุ 63 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพ ทั้งรองแม่ทัพภาคที่ 1 , แม่ทัพภาคที่ 1,ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ, ผู้ช่วยบัญชาการทหารบก และในปี 2547 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้รับรางวัลเกียรติยศจักรดาว ประจำปีพุทธศักราช 2540 สาขาการพัฒนาทางทหาร ปัจจุบันเป็นประธานนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ปัจจุบันอายุ 44 ปี ได้รับสมญานามว่า "หล่อโย่ง" เพราะมีความสูงถึง 193 เซนติเมตร จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เคยดำรงตำแหน่งประธานบริษัทเจพี มอร์แกน (ประเทศไทย), ร่วมก่อตั้งและเป็นประธาน บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม จำกัด ด้วยวัยเพียง 24 ปี ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งเข้าสู่การเมืองในวัย 40 ปี จากการชักชวนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อนนักเรียนเมื่อครั้งที่เรียนอยู่ประเทศอังกฤษ ในปี 2548 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 7 กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2551 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค


นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
อายุ 53 ปี จบปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ จากนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จบปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตร์มหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เข้าสู่วงการเมืองสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ จากการชักชวนของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น เริ่มชีวิตนักการเมืองในนาม ส.ส.พิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาลชวน 2 เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หลังรัฐประหารได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ตั้งพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาร่วมกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ โดยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค และหลังการเลือกตั้งปี 2550 ได้ดำรงำแหน่งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลสมัคร 1 และรัฐบาลสมชาย


นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
อายุ 45 ปี จบปริญญาแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทบริหารธุรกิจ สถาบันศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยา เป็นแพทย์ที่ก่อตั้งคลีนิกรักษาคนไข้ในนาม "มูลนิธิทานตะวัน 19" ซึ่งเป็นคลีนิกรักษาคนไข้ที่มีรายได้น้อย ตลอดจนผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาสโดยคิดค่ารักษาและค่ายาในราคา 19 บาท ต่อคน ต่อครั้ง อีกทั้งได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกตระเวณตรวจรักษาฟรี ให้กับประชาชนทั่วไปในเขต บึงกุ่ม ห้วยขวางและอื่นๆ เข้าสู่วงการเมืองด้วยการเป็น ส.ส.กทม. ในนามพรรคไทยรักไทย เคยดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณสุข, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน


นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
อายุ 49 ปี จบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย ปริญญาโทนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (กฎหมายเปรียบเทียบ) สหรัฐอเมริกา และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (กฎหมายอเมริกันทั่วไป) สหรัฐอเมริกา ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กรุงเทพมหานครครั้งแรก เมื่อปี 2539 เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายพิจิตต รัตตกุล) และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข



อายุ 53 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตเป็นหนึ่งในนิสิตที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บจากการเข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เข้าสู่วงการเมืองโดยเป็นหนึ่งในทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราชหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี,ประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคใต้
นายมานิต นพอมรบดี พรรคภูมิใจไทย หรืออดีตมัชฌิมาธิปไตย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
อายุ 53 ปี สามีของนางกอบกุล นพอมรบดี ส.สราชบุรี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2549 นายมานิตย์ สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาการโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ราชบุรี ในสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


นายธีระ สลักเพชร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
อายุ 51 ปี จบปริญญาตรี สาขาสาธารณสุขศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เป็น ส.สตราด สมัยแรกในปี 2539 และได้รับเลือกตั้งมาตลอด มีประสบการณ์ทำงานเป็น รองประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว และประธานกรรมาธิการการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎรของสภาผู้แทนราษฎร และในฝ่ายบริหารเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
อายุ 52 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบ ปริญญาตรีรัฐศาสตร์บัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดพังงาหลายสมัย ปี 2529 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ดาวรุ่ง (ส.ส. ใหม่ดีเด่น) โดยสื่อมวลชนสายรัฐสภา เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลชวน 1 ก่อนจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลชวน 2 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์


นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา
อายุ 49 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดตากก่อนจะเข้าสู่การเมืองใหญ่ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตาก หลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯลฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคเหนือ

นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
จบการศึกษาปริญญาโท (MA) สาขาการตลาด Webster University, USA เป็นภรรยาของนายสุชาติ ตันเจริญ หัวหน้ากลุ่มริมน้ำ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทภูเก็ตอินเทอร์เน็ตจำกัด และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบอร์ดทีโอที สมัยนายมั่น พัธโนทัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

นายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
อายุ 73 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดพิจิตร 9 สมัย เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม



ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์
อายุ 69 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2504 และได้ทุนโคลัมโบไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ก่อนจะได้รับทุนต่อเนื่องในระดับปริญญาเอก สาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์ ที่วิทยาลัยอิมพีเรียล ในเครือมหาวิทยาลัยลอนดอน จนสำเร็จการศึกษาในปี 2513 เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทคขึ้นในปี พ.ศ. 2529 และทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตลอด เข้าสู่วงการเมืองด้วยการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2543 แต่ไม่ได้รับเลือก ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส กรุงเทพมหานคร



นายกษิต ภิรมย์ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ



อายุ 64 ปี สำเร็จการศึกษา ด้านการต่างประเทศ (International Affairs) จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก Institute of Social Studies ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีประสบการณ์ด้านต่างประเทศมายาวนาน เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ คือ ประเทศรัสเซีย อินโดนีเซีย เยอรมนี ญี่ปุ่น และตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการคือ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยช่วยราชการที่กระทรวงพาณิชย์ และที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล กลุ่มเพื่อนเนวิน นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
อายุ 72 ปี เป็นบิดาของนายอนุทิน ชาญวีรกูล สำเร็จการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 2 สมัย และนั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยสมัคร 1 ตามโควตานครบาลของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากนั้นขยับขึ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก่อนกลับมาว่าการที่สาธารณสุขอีกครั้ง และได้รับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก่อนจะได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมตรี หลังจากศาลมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน


นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา กลุ่มเพื่อนเนวิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
อายุ 47 ปี จบปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เริ่มเข้าสู่วงการการเมืองโดยเล่นการเมืองท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา 2 สมัย ก่อนจะลงสมัคร ส.ส. และได้รับเลือกเป็น ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคพลังประชาชน ภายหลังพรรคพลังประชาชนถูกตัดสินยุบพรรค จึงออกมาเคลื่อนไหวในฐานะแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน โดยหันไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้จัดตั้งรัฐบาลแทน


นายถาวร เสนเนียม พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
อายุ 61 ปี เป็น ส.ส.สงขลาหลายสมัย จบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย สำนักฝึกอบรมกฎหมาย และรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิตจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก่อนเข้าสู่การเมืองเคยเป็นทนายความ และอัยการประจำจังหวัดกระบี่และพัทลุงมาก่อน นายถาวรเป็นผู้ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์, นายวีระชัย แนวบุญเนียร ในกรณีจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เคยดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมาธิการการยุติธรรมและมนุษยชน และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


นายโสภณ ซารัมย์ กลุ่มเพื่อนเนวิน นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
อายุ 49 ปี เป็น จบวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ ก่อนลาออกมาเป็น ส.ส สังกัดพรรคชาติไทย ปี 2544 เคยทำงานในหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จนสร้างความไม่พอใจให้ครูทั่วประเทศมาแล้ว เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลสมชาย


นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ส.ส.ขอนแก่น กลุ่มเพื่อนเนวิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
อายุ 57 ปี จบศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย,ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาศิลปศาสตร์ สถาบันราชภัฏเลย และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา สถาบันราชภัฏเลย ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส ขอนแก่น 2 สมัย เป็นประธานคณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฎร, นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น 2 สมัย

นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.อยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
อายุ 45 ปี จบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำธุรกิจส่วนตัวก่อนที่จะเข้าสู่สนามการเมือง ได้รับเลือกเป็น ส.ส.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในนามพรรคชาติไทย เมื่อปี 2550 และดำรงตำแหน่งคณะกรรมการธิการการศึกษา รวมทั้งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี


ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
อายุ 51 ปี ภรรยาของว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี แกนนำกลุ่มโคราชพรรคเพื่อแผ่นดิน จบการศึกษาพยาบาลศาสตร์ มหาวทิยาลัยมหิดล เคยดำรงตำแหน่ง ผอ.สาธารณสุข อบจ.นครราชสีมา ก่อนลาออกลงเลือกตั้ง ส.ว.ปี 2549 และลงสมัคร ส.ส.จนได้รับเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลสมัคร และรัฐบาลสมชาย


นางพรทิวา นาคาศัย พรรคภูมิใจไทย หรือ มัชฌิมาธิปไตย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
อายุ 47 ปี เป็นภรรยาของนายอนุชา นาคาศัย อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชัยนาท พรรคไทยรักไทย ได้รับเลือกเป็น ส.ว.ชัยนาทในปี 2549 ก่อนจะลงสมัคร ส.ส.ในปี 2550 แทนสามีที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ในนามพรรคมัชฌิมาธิปไตย สายกลุ่มนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน (กลุ่มวังน้ำยม) ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรค ก่อนที่พรรคมัชฌิมาธิปไตยจะถูกยุบ จึงไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยแทน

นางพรทิวา นาคาศัย จบการศึกษาจากรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารจัดการสาธารณะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ การปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า


นายอลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
อายุ 52 ปี จบปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานด้านหนังสือพิมพ์มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่การทำรัฐประหารของคณะ รสช. ในปี 2534 จะเป็นจุดพลิกผันในตัดสินใจลงเล่นการเมืองในจังหวัดเพชรบุรี และได้รับการเลือกตั้งมาหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการสภาพรรคการเมืองเสรีประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (CALD) และได้รับฉายาว่า "มิสเตอร์เอทานอล" จากการเป็นผู้ผลักดันให้โครงการเอทานอลเกิดขึ้นในประเทศไทย และทำให้เกิดโรงงานเอทานอลจำนวนมาก

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
อายุ 59 ปี เป็นหมออายุรศาสตร์ สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, MASTER OF PUBLIC HEALTH UNIVERSITY OF HAWAII , วิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญ สาขาอายุรศาสตร์ แพทยสภา, นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็น ส.ส.นครราชสีมา 5 สมัย แต่งงานกับพี่สาวของ พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ จึงอยู่ในฐานะคู่เขยของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์


นายสุวิทย์ คุณกิตติ พรรคกิจสังคม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
อายุ 51 ปี จบปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเคมี จากสหรัฐอเมริกา, ปริญญาดุษฎีบัญฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน เป็นส.ส.ขอนแก่น มา 8 สมัย โดยเริ่มต้นเส้นทางการเมืองจากพรรคกิจสังคม ก่อนย้ายไปพรรคเอกภาพ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม แทนนายมนตรี พงษ์พานิช ก่อนที่จะไปสังกัดพรรคไทยรักไทย และเมื่อพรรคไทยรักไทยถูกตัดสินยุบพรรค นายสุวิทย์จึงออกมาตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน ร่วมกับกลุ่มปากน้ำของ นายวัฒนา อัศวเหม และได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน และลงสมัคร ส.ส.จังหวัดขอนแก่น แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง




นายธีระ วงศ์สมุทร พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อายุ 60 ปี สำเร็จการศึกษาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับราชการในกระทรวงเกษตรฯ มานาน ทั้งตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวางโครงการก่อสร้าง (วิศวกรโยธา 8 ) , ผู้อำนวยการกองก่อสร้างโครงการใหญ่, ผู้อำนวยการสำนัก (วิศวกรโยธา 9), รองอธิบดี (นักบริหาร 9) กรมชลประทาน, ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการ 10) รองปลัดกระทรวง (นักบริหาร 10 ) สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมชลประทาน นายธีระเติบโตมาจากสายของพรรคชาติไทยโดยตรง


นายชาติชาย พุคยาภรณ์ กลุ่มเพื่อนเนวิน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ชาติชายเป็นผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยศรีปทุม และเป็นประธานคณะกรรมการบริหารและพัฒนาฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท ทักษิณ ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาครั้งนี้ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก


นายชุมพล ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
อายุ 68 ปี จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท สาขาบริหารรัฐกิจ Syracuse University สหรัฐอเมริกา เคยรับราชการเป็นข้าราชการสำนักงาน ก.พ. และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนจะเข้ามาสู่สนามการเมืองด้วยการเป็น ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย ของนายบรรหาร ศิลปอาชา พี่ชาย เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1, ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนจะหายไปจากวงการเมือง เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ และมีข่าวระหองระแหงกับพี่ชาย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนนายชุมพล แยกตัวออกมาเป็น ส.ว. กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2543 ครั้งนี้กลับมาในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แทนที่พี่ชายที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี


นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง พรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
อายุ 66 ปี เป็นเจ้าของห้องอาหารขนาบน้ำ จบปริญญาตรีจากสถาบันราชภัฎมหาสารคาม และปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น ส.ส มหาสารคามมาหลายสมัย เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะถูกยุบ นายชาญชัยจึงย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน ก่อนหน้าเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร, เลขานุการประจำรัฐสภา, เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, รองโฆษกรัฐบาล


นายวิฑูรย์ นามบุตร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
อายุ 49 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2529 และปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ประกอบอาชีพทนายความก่อนเข้าสู่วงการเมือง ได้รับเลือกเป็น ส.ส อุบลราชธานี 6 สมัย เคยเป็นเลขานุกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น